Thursday, June 22, 2017

วิธีการสอนแบบตรง (Direct Method)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ direct method example
ที่มา: https://www.slideshare.net/Ayeshabashir1990/direct-method-of-language-teaching 
วิธีการสอนแบบตรง (Direct Method)
บทนำ  
          วิธีสอนภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศย่อมมีวิวัฒนาการไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อตอบสนองสภาพเหตุการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยได้รับอิทธิพลหรือแนวคิดมาจากนักภาษาศาสตร์ นักจิตวิทยา และนักการเมืองของวิธีสอนต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนต้องศึกษาเรียนรู้ เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีสอนแต่ละวิธีย่อมมีข้อดีข้อเสียหรือข้อจำกัดอยู่ในตัว  และไม่มีการสอนวิธีใดที่สมบูรณ์ที่สุด  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะต้องพยามศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อพิจารณาเลือกสรรส่วนดีของวิธีสอนแต่ละวิธีมาประสมประสานกันเพื่อนำมาใช้ให้เหมาะสมกับบทบาทของผู้เรียน  และตามจุดมุ่งหมายของผู้สอนที่ตั้งไว้ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้สอนควรศึกษาวิธีการสอนภาษาต่างประเทศแบบต่างๆ ในที่นี้จะขอนำเสนอเกี่ยวกับการสอนแบบตรง
แนวคิดพื้นฐาน
          ในศตวรรษที่ 19 เริ่มมีการปฏิรูปทฤษฎีการเรียนรู้ทางภาษาโดยให้ความสนใจกับการเรียนรู้ภาษาตามแนวธรรมชาติคือ มีความคิดที่จะพยายามสอนภาษาที่สองเหมือนกับการสอนภาษาที่หนึ่ง นักภาษาศาสตร์หลาย ๆ คนเชื่อว่าการสอนภาษาต่างประเทศไม่มีความจำเป็นต้องแปลเป็นภาษา ที่หนึ่งถ้าผู้สอนรู้จักที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจโดยการสาธิตและแสดงท่าทาง จากเหตุผลที่ไม่ใช้ภาษาที่หนึ่ง ในชั้นเรียนจึงทำให้วิธีสอนแบบตรงมีปัญหาเรื่องครูสอน เพราะครูผู้สอนวิธีนี้จะเป็นครูที่เป็นเจ้าของภาษา เนื่องจากครูที่ไม่ใช้เจ้าของภาษามีข้อจำกัดในการใช้ภาษาเป้าหมายตลอดเวลาจึงหาครูที่มีความสามารถเช่นนี้ ไม่ค่อยง่ายนัก และการหลีกเลี่ยงไม่ใช้ภาษาที่หนึ่งเลยบางทีก็เกิดผลเสียบางครั้งการใช้ภาษาที่หนึ่ง อธิบายเพียงสั้น ๆ อาจทำให้ผู้เรียนเกิดความกระจ่างและช่วยให้เกิดการเรียนรู้ทางภาษาได้เร็วกว่าใช้ภาษาที่สอง นอกจากนั้นการที่ผู้สอนใช้ภาษาเป้าหมายตลอดเวลาในชั้นเรียนทำให้ผู้เรียนเกิดความคับข้องใจ (frustration) ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้นักภาษาศาสตร์พัฒนาวิธีสอนใหม่ขึ้นมาคือ วิธีสอนแบบฟัง-พูด (audio-lingual method)
          การสอนแบบตรงเกิดขึ้นในยุโรประหว่างปี 1850-1900 เป็นวิธีแรกหลังจากเกิดการปฏิรูปทางด้านการสอนภาษาต่างประเทศเนื่องจาก นักภาษาศาสตร์เห็นว่าวิธีสอนแบบไวยากรณ์และแปลมิได้ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ดังนั้นจุดมุ่งหมายของการสอนแบบตรงคือมุ่งให้ผู้เรียนใช้ภาษาเพื่อการติดต่อสื่อสาร บทเรียนส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยกิจกรรมที่เป็นบทสนทนา เพื่อเปิดโอกาส ให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาในสถานการณ์ต่าง ๆ ผู้เรียนจะถูกกระตุ้นให้ใช้ภาษาต่างประเทศที่กำลังเรียนอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีการใช้ภาษาของผู้เรียนเลยเวลาสอนผู้สอนจะพยายามสร้างสภาพแวดล้อมในห้องเรียน ให้เหมือนสภาพแวดล้อมที่ต้องใช้ภาษาต่างประเทศผู้สอนจะใช้ภาษาต่างประเทศตลอดเวลา ไม่มีการเน้นสอนไวยากรณ์จะไม่มีการบอกกฎไวยากรณ์อย่างชัดเจน แต่การเรียนรู้ไวยากรณ์จะเรียนรู้อยากตัวอย่างและการใช้ภาษา แล้วสรุปกฎเกณฑ์ ถึงแม้จะมีการฝึกทักษะทั้ง 4 คือ ฟัง-พูด อ่าน เขียน แต่การฝึกทักษะพูดเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดทักษะอ่าน และเขียนจะมีพื้นฐานมาจากการพูดก่อน วิธีสอนแบบนี้เน้นการรู้วัฒนธรรมของเจ้าของภาษา รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของผู้พูดภาษานั้น ๆ ด้วย  วิธีสอนแบบตรงบางครั้งเรียกว่าวิธีสอนตามธรรมชาติ (natural method)
          จอยส์ และวีล (Joyce and Weil, 1996: 334) อ้างว่า มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ชี้ให้เห็นว่า การสอนโดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ที่ลึกซึ้ง ช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกว่ามีบทบาทในการเรียน ทำให้ผู้เรียนมีความตั้งใจในการเรียนรู้และช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในการเรียน นอกจากนั้นยังพบว่า บรรยากาศการเรียนที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน สามารถสกัดกั้นความสำเร็จของผู้เรียนได้ ดังนั้น ผู้เรียนจึงจำเป็นต้องระมัดระวัง ไม่ทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกในทางลบ เช่น การดุด่าว่ากล่าว การแสดงความไม่พอใจ หรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้เรียน
ลักษณะสำคัญ
1.  ใช้ภาษาเป้าหมายเท่านั้น  
2.  ผู้เรียนจะถูกฝึกให้ใช้ภาษาเป้าหมายที่เป็นภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน
3.  ผู้เรียนถูกกระตุ้นให้คิดเป็นภาษาเป้าหมาย
4.  ทักษะแรกที่เน้นคือทักษะพูดแล้วจึงพัฒนาทักษะอ่านและเขียน
5.  การสอนศัพท์ ควรสอนความหมายจากบริบทที่คำศัพท์นั้นปรากฏในประโยค ไม่ควรสอนแบบแยกส่วน
6.  การสอนกฎไวยากรณ์ควรสอนหลังจากที่เรียนตัวอย่างภาษาในเนื้อเรื่องแล้ว
7.  หลีกเลี่ยงการสอนแบบแปล
วัตถุประสงค์
          รูปแบบการเรียนการสอนนี้มุ่งช่วยให้ได้เรียนรู้ทั้งเนื้อหา สาระ และมโนทัศน์ต่าง ๆ รวมทั้งได้ฝึกปฏิบัติทักษะต่าง ๆ จนสามารถทำได้ดีและประสบผลสำเร็จได้ในเวลาที่จำกัด
กระบวนการเรียนการสอน
          การเรียนการสอนของรูปแบบนี้ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ๆ 5 ขั้นดังนี้
          ขั้นที่ 1 ขั้นนำ
     1.1 ผู้สอนแจ้งวัตถุประสงค์ของบทเรียนและระดับการเรียนรู้ หรือพฤติกรรมการเรียนรู้ที่คาดหวังแก่ผู้เรียน
     1.2 ผู้สอนชี้แจงสาระของบทเรียน และความสัมพันธ์กับความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียนอย่างคร่าวๆ
     1.3 ผู้สอนชี้แจ้งกระบวนการเรียนรู้ และหน้าที่รับผิดชอบของผู้เรียนในการเรียนแต่ละขั้นตอน
          ขั้นที่ 2 ขั้นนำเสนอบทเรียน
     2.1 หากเป็นการนำเสนอเนื้อหาสาระ ข้อความรู้หรือมโนทัศน์ผู้สอนควรกลั่นกรองและกลัดคุณสมบัติเฉพาะของมโนทัศน์เหล่านั้น และนำเสนออย่างชัดเจนพร้อมทั้งอธิบายและยกตัวอย่างประกอบให้ผู้เรียนเข้าใจ ต่อไปจึงสรุปคำนิยามของมโนทัศน์เหล่านั้น
     2.2 ตรวจสอบว่าผู้เรียนมีความเข้าใจตรงตามวัตถุประสงค์ก่อนให้ผู้เรียนลงมือฝึกปฏิบัติ หากผู้เรียนยังไม่เข้าใจ ต้องสอนซ่อมเสริมให้เข้าใจก่อน
          ขั้นที่ 3 ขั้นฝึกปฏิบัติตามแบบ (structured practice)
          ผู้สอนปฏิบัติให้ผู้เรียนดูเป็นตัวอย่าง ผู้เรียนปฏิบัติตาม ผู้สอนให้ข้อมูลป้อนกลับ ให้การเสริมแสงหรือแก้ไขข้อผิดพลาดของผู้เรียน
          ขั้นที่ 4 ขั้นปฏิบัติภายใต้การกำกับของผู้ชี้แนะ (guided practice)
          ผู้เรียนลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยผู้สอนคอยดูแลอยู่ห่างๆ ผู้สอนจะสามารถประเมินการเรียนรู้และความสามารถของผู้เรียนได้จากความสำเร็จและความผิดพลาดของการปฏิบัติของผู้เรียน และช่วยเหลือผู้เรียน โดยให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อให้ผู้เรียนแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ
          ขั้นที่ 5 การฝึกปฏิบัติอย่างอิสระ (independent practice)
          หลังจากที่ผู้เรียนสามารถปฏิบัติตามขั้นที่ 4 ได้ถูกต้องประมาณ 85-90 % แล้ว ผู้สอนควรปล่อยให้ผู้เรียนปฏิบัติต่อไปอย่างอิสระ เพื่อช่วยให้เกิดความชำนาญและการเรียนรู้อยู่คงทน ผู้สอนไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลป้อนกลับในทันที สามารถให้ภายหลังได้การฝึกในขั้นนี้ไม่ควรทำติดต่อกันในครั้งเดียว ควรมีการฝึกเป็นระยะ ๆ เพื่อช่วยให้การเรียนรู้อยู่คงทนขึ้น
ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ
          การเรียนการสอนแบบนี้ เป็นไปตามลำดับขั้นตอน ตรงไปตรงมา ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทั้งทางด้าน  พุทธิพิสัย และทักษะพิสัยได้เร็วและได้มากในเวลาที่จำกัด ไม่สับสนผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติตามความสามารถของตน จนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ ทำให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการเรียน และมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
ขั้นตอนการสอน
1.       ฟังและอ่านบทสนทนา
2.       สอนคำศัพท์ โดยใช้ภาษาเป้าหมาย
3.       ถามคำถามเพื่อเช็คความเข้าใจ
4.       สรุป
5.       ทำแบบฝึกหัด : เขียนตามคำบอก, เติมคำในช่องว่าง, บทความ
เทคนิคการสอน
          1.       การอ่านออกเสียง
          2.       แบบฝึกหัด ถาม-ตอบ
          3.       นักเรียนรับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยแก้ไขให้ถูกต้อง
          4.       ฝึกบทสนทนา
          5.       แบบฝึกหัด : เติมคำในช่องว่าง
          6.       เขียนตามคำบอก
          7.       Mind Map
          8.       การเขียนหน้า
ข้อดี
     1. ผู้เรียนมีโอกาสได้ฝึกสนทนาโดยใช้ภาษาต่างประเทศ
     2. เป็นวิธีสอนที่สอดคล้องกับกับเรียนภาษาแบบธรรมชาติ เพราะเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกฟัง-พูด จนชำนาญเสียก่อน ก่อนไปสู่ทักษะการอ่านและการเขียน
     3. ผู้เรียนได้เรียนภาษาที่คล้ายภาษาแม่ เพราะมีการใช้ภาษาในชั้นเรียนตลอดเวลา
     4. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนตลอดเวลา ทำให้ผู้เรียนไม่รู้สึกเบื่อและมีทัศนคติต่อการเรียนภาษาต่างประเทศ
     5. ถ้าฝึกนาน ๆ ผู้เรียนจะใช้ภาษาเพื่อสื่อความหมายได้
     6. ได้เรียนรู้ภาษาแบบเดียวกับการเรียนรู้ภาษาของตนเอง
     7. ช่วยให้ผู้เรียนคุ้นกับภาษาที่เรียนได้เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนระดับต้นๆ
ข้อเสีย
     1. ผู้สอนต้องมีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาของผู้เรียน การอธิบายนามธรรมอาจเสียเวลา และผู้เรียนเข้าใจผิด
     2. การสอนวิธีนี้จะไม่มีการสรุปกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจสับสน หรือเข้าใจผิดโดยเอาภาษาแม่เข้ามาใช้ปนกับภาษาต่างประเทศ
     3. ผู้สอนจะต้องเป็นเจ้าของภาษา หรือผู้ที่มีความถนัดในภาษาที่สอน
     4. การสอนด้วยวิธีนี้ผู้เรียนต้องไม่มากจนเกินไป กล่าวคือ ประมาณ 10-20 คน จะต้องได้รับการเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อจะได้ฝึกอย่างเต็มที่
     5. เมื่อผู้เรียนไม่เข้าใจก็ไม่กล้าถาม เพราะไม่มีความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสารที่ตัวเองต้องการได้







     ตัวอย่างการสอนแบบตรง  (Direct  Method)

 

ที่มา:  www.SPEAK4kids.eu English for KIDS with SPEAK DIRECT Method
          เรียนรู้เพิ่มเติม : https://www.youtube.com/channel/UClbd3ODV9DUjBVzrluuBSyA